วันสุดท้ายของนักโทษประหาร (Le Dernier Jour d’un Condamné)

KODAK Digital Still Camera

หากพวกเขาได้อ่านบันทึกนี้แล้ว บางทีอาจเบามือลงในครั้งต่อ ๆ ไป ก่อนจะโยนหัวที่รู้คิด หรือก็คือหัวของมนุษย์คนหนึ่ง ลงไปในสิ่งที่พวกเขาเรียกกันว่าตราชูแห่งความเที่ยงธรรม (…) ในหัวของมนุษย์ที่ถูกสั่งให้ตัดทิ้งนั้น มีปัญญารู้คิดที่ตระหนักถึงความหมายของชีวิต กับทั้งมีจิตวิญญาณที่ไม่พร้อมรับความตายอยู่

บันทึกตั้งแต่วันพิจารณาคดีกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตบนแท่นกิโยตินของนักโทษประหารผู้หนึ่ง โหดร้าย ทุกข์ทน เปี่ยมหวังบนความสิ้นหวัง แสงแดดในสายตาของคนคุกทั้งงดงามและเศร้าสร้อย

เรียกร้องการต่อต้านโทษประหารชีวิตโดยนักโทษที่มีตัวตนพร่าเลือน ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ทำผิดอะไรมา ดังนั้นมันจึงไม่ได้เป็นตัวแทนของคน ชนชั้น หรือคดีไหนเลย แต่เป็นตัวแทนมนุษย์ธรรมดาที่รักชีวิต ขี้ขลาด หวาดกลัว ห่วงหาครอบครัว

มองในมุมของนักโทษ และพักออกมามองในมุมของคนทั่วไปแบบไม่โลกสวย เราจะพบความย้อนแย้งเต็มไปหมด เนี่ยถ้าหากว่า “การมีชีวิตเป็นสิทธิขั้นฐานของมนุษย์ ไม่ควรถูกหยิบยื่นโดยผู้ใด” นักโทษไม่สมควรถูกประหาร แล้วเหยื่อล่ะทำไมต้องตาย ?

แล้วสรุปเรื่องนี้ดีไหม ? ดีมากนะสำหรับเรา เล่มไม่ยาว แต่เปิดหลายมุมมอง ทั้งโลกสวย โลกหม่น ฮือ หนังสือมันเอาแต่ใจแบบโลกสวย แต่เราก็ดันใจบาปนิด ๆ เราลองแย้งในมุมที่ว่าสมมติตัวเองเป็นเหยื่อ/ผู้เสียหายบ้าง นี่นั่งเถียงกับหนังสือหลายจุดเลย ใคร่ครวญจากฐานคิดต่าง ๆ นานา ซึ่งไม่ได้มีแค่สอง คือสวมเข้าไปในจิตใจของนักโทษหรือเหยื่อ เรายังมองแบบแง่ของมนุษยธรรม, จิตวิทยา, สังคม ฯลฯ แล้วก็จะได้คำตอบแตกต่างกันออกไป มันไม่มีอะไรตายตัวหรือถูกต้องที่สุด ในเมื่อนักโทษนั้นคือมนุษย์ผู้หนึ่ง และคนตัดสินโทษก็คือมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ผสมตรรกะบิด ๆ เบี้ยว ๆ อย่างเรา ๆ นี่ละ

สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ผ่านแล้วเอากลับคืนไม่ได้ และโทษแบบนี้มันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรในแง่ของการยับยั้งอาชญากรรมที่จะเกิดต่อ ๆ มาด้วย อาชญากรรมไม่มีวันหมดหรือลดไปจากสังคม การลงโทษเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่จะแก้ที่ต้นเหตุยังไงนั้นเราก็ไม่รู้ว่ะ

Leave a comment